ปกติแล้ว “ลิ้น” มีหน้าที่ที่สำคัญอยู่หลายประการ แต่สำหรับทารกแรกเกิดนั้น ลิ้นมีหน้าที่ในการช่วยดูดนมจากเต้านมของแม่โดยทารกจะแลบลิ้นไปที่ลานหัวนมและรีดน้ำนมเข้าช่องปาก ถ้าในกรณีที่ทารกมีพังผืดติดใต้ลิ้นมากเกินไปก็จะทำให้ปลายลิ้นขยับออกมา เลียลานหัวนมไม่ได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาเมื่อต้องดูดนมแม่ บางรายจะใช้เหงือกในการดูดนม ซึ่งจะทำให้แม่เกิดความเจ็บปวด หัวนมแตกและเป็นอุปสรรคต่อการให้นมบุตรในครั้งต่อไป
พังผืด หรือ เยื่อบางๆ บริเวณโคนลิ้นที่เกิดขึ้นในทารกทุกคนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ทารกบางรายอาจมีพังผืดติดมากกว่าปกติ..คือมาจนถึงบริเวณปลายลิ้น ทำให้เกิดปัญหาในการขยับบริเวณปลายลิ้น หรือการเคลื่อนไหวของลิ้นไม่ดีเท่าที่ควร
พังผืดใต้ลิ้น” #จำเป็นต้องรักษาหรือไม่?
- ลูกจะงับหัวนมไม่ค่อยติด เมื่อดูดนม ดูดเบา ดูดบ่อย
- น้ำหนักตัวลูกไม่เพิ่มขึ้นตามกำหนด มีอาการตัวเหลือง
- ลูกแลบลิ้นได้ไม่พ้นริมฝีปาก หรือเหงือกบน ไม่สามารถกระดกปลายลิ้นขึ้นไปสัมผัสเพดานปากได้
- ปลายลิ้นอาจเป็นหยักเข้ามาเป็นรูปหัวใจ
- สำหรับแม่..จะมีอาการเจ็บขณะที่ทารกดูดนม อาจมีหัวนมแตกเป็นแผลและส่งผลแทรกซ้อนถึงเต้านมอักเสบได้
ในอดีตเราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากนัก ในกรณีที่เด็กทารกไม่สามารถดูดนมแม่ได้ก็จะแก้ไขด้วยการเลี้ยงด้วยนมขวด แต่ในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่มากขึ้น เนื่องจากพิสูจน์แล้วว่าได้รับคุณค่ามากกว่า ทำให้แม่ส่วนใหญ่ต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
การรักษาภาวะพังผืดใต้ลิ้นจะใช้การผ่าตัด โดยในทารกต่ำกว่า 4 เดือนหรือฟันยังไม่ขึ้นนั้นสามารถใช้ยาชาเฉพาะที่ได้ ทารกไม่จำเป็นต้องงดนมก่อนผ่าตัด ใช้เวลาในการผ่า 5-10 นาที หลังผ่าตัดสามารถดูดนมแม่ได้ทันทีและสามารถกลับบ้านได้ แผลหลังผ่าตัดไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาโดยเฉพาะ แผลสามารถหายเองได้ใน 1-2สัปดาห์ และพบภาวะติดเชื้อที่แผลน้อยมาก
เนื่องจากลิ้นเป็นวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพูด โดยเฉพาะปลายลิ้นที่ต้องช่วยในการออกเสียงควบกล้ำ ดังนั้นในเด็กโตที่มีพังผืดยึดมาถึงบริเวณปลายลิ้นอาจพูดไม่ชัด พูดช้า และมีปมด้อยได้ แต่เนื่องจากพังผืดเกิดในทารกแรกเกิดมีแนวโน้มที่จะยืดออกเองได้ จึงยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนในการรักษาขณะที่เป็นทารกแรกเกิด หากยังไม่มีปัญหาเรื่องการดูดนมแม่ แพทย์ก็จะทำการนัดมาตรวจเป็นระยะๆ หากพังผืดยืดออกได้เองก็ไม่ต้องทำการรักษา หากไม่ยืดออกก็จะพิจารณารักษาต่อไป