ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นขาดความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อการตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้

25/11/2022

1. ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (iron deficiency anemia)ถือเป็นภาวะที่มีความผิดปกติของระบบเลือดที่พบได้บ่อยที่สุดในหญิงตั้งครรภ์ ดังการศึกษาของ จิตตระการ ศุกร์ดี และศิวิไลซ์ วนรัตน์วิจิตร (2559)เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กของสตรีตั้งครรภ์ที่รับบริการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขตบริการสุขภาพที่ 2 จำนวน 148 ราย พบว่า สตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีมีโอกาสเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมากกว่าสตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า20 ปี 7.01 เท่าเนื่องมาจากหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่เหมาะสมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เพราะไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะตั้งครรภ์ (นฤมลทองวัฒน์, ประไพวรรณด่านประดิษฐ์ และสุชาดารัชชุกูล,2552)ส่วนใหญ่เลือกรับประทานอาหารตามความชอบมากกว่านึกถึงคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่(ศรุตยา รองเลื่อน, 2555) และการมาฝากครรภ์ช้าทำให้ได้รับยาเสริมธาตุเหล็กช้าไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในขณะตั้งครรภ์ได้

2. ภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์(Pregnancy induced hypertension)หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์สูงมากกว่าหญิงตั้งครรภ์วัยผู้ใหญ่2 เท่า ดังการศึกษาของ รำไพเกตุจิระโชติ, พร้อมจิตร ห่อนบุญเหิม,รัตติยา ทองสมบูรณ์ และสุภาพร สุภาทวีวัฒน์ (2560) เกี่ยวกับผลลัพธ์การตั้งครรภ์ในสตรีที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ที่คลอดในโรงพยาบาลมหาสารคามเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนจำนวน 234 ราย พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี มีภาวะ Severepreeclampsia สูงถึงร้อยละ 68.6 และ Eclampsia สูงถึงร้อยละ 50 ถ้าให้การรักษาไม่ทันจะส่งผลทำให้หญิงตั้งครรภ์มีสภาพการเสื่อมของระบบประสาทอย่างถาวร

3. ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนด(Preterm labor and preterm delivery)เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาโดยเกิดจากหลายสาเหตุส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเจริญเติบโตที่ไม่เต็มที่ของร่างกายวัยรุ่นการศึกษาการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อม การใช้ยาหรือสารเสพติดและขาดการดูแลในระยะก่อนคลอดที่เหมาะสมเนื่องจากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ดังการศึกษาของ Thomazini, Wysocki, Dacunha, Da Cunha& Ruiz (2016)เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นเป็นการทบทวนวรรณกรรมแบบผสมผสาน พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นคือปัจจัยด้านการเข้าถึงบริการและความถี่ของการดูแลก่อนคลอดปัจจัยด้านการศึกษาเรื่องการคุมกำเนิดและการศึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัวสำหรับวัยรุ่นปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจและปัจจัยด้านการสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นปัจจัยดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น

4. ภาวะศีรษะทารกไม่สัมพันธ์กับช่องเชิงกราน (Cephalopelvic disproportion: CPD)เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นการเจริญเติบด้านร่างกายยังไม่เต็มที่การเจริญเติบโตของกระดูกเชิงกรานยังไม่สมบูรณ์ และวัยรุ่นไม่ให้ความร่วมมือขณะคลอดทำให้ต้องใช้สูติศาสตร์หัตถการและการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องสูงขึ้น (สิระยากิตติโยดม, 2555)

5.ภาวะตกเลือดหลังคลอด(Postpartum heamorrhage)เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นส่วนใหญ่มีภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ทำให้เกิดการสูญเสียเลือดมากขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (Camila,2010) ภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการตกเลือดในขณะคลอดและหลังคลอดถึงร้อยละ 21.6(กระทรวงสาธารณสุข, 2555อ้างถึงใน จิตตระการ ศุกร์ดี, 2559)

6.การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการศึกษาของกรมอนามัย สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ (2560) พบว่าวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นอายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก คือ 15 ปีและส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกโดยไม่ได้ป้องกัน โอกาสการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเอชไอวีจึงเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพมารดาและทารกและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

7.อัตราการตายของมารดาเพิ่มสูงขึ้น อุบัติการณ์จะเพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาซึ่งมารดาที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และการตั้งครรภ์ครั้งแรกจะอันตรายมากเนื่องจากร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากกว่าหญิงตั้งครรภ์วัยผู้ใหญ่ การตั้งครรภ์ในระยะนี้จึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะตั้งครรภ์ระยะคลอด และระยะหลังคลอด (กาญจนา ชัยชุมพล, 2558)ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุด คือภาวะตกเลือดหลังคลอด ภาวะติดเชื้อและภาวะความดันโลหิตสูง (สุธิต คุณประดิษฐ, 2560)

ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพราะส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนหรือตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี และยิ่งอายุน้อยเท่าใดก็ยิ่งเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์มากขึ้นทั้งในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด