การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาทางสาธารณสุขและสังคมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดย ในปี พ.ศ. 2563 ทั่วโลกพบอุบัติการณ์คลอดในสตรีอายุ 15-19 ปี ประมาณ 12 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยพบอัตราการคลอด เท่ากับ 25.58 และ 0.93 ต่อประชากรหญิง 1,000 คนในกลุ่มอายุ 15-19 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ทำนองเดียวกันจังหวัดอุดรธานี พบอัตราการคลอดเท่ากับ 25.58 และ 0.49 ต่อประชากรหญิง 1,000 คน ในกลุ่มอายุ 15-19 ปี และ กลุ่มอายุ 10-14 ปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ของสหประชาชาติ โดยระบุว่าการตั้งครรภ์ในกลุ่มอายุ 15-19 ปี ไม่ควรเกิน 25 ต่อประชากรหญิง 1,000 คนในกลุ่มวัยเดียวกัน
ผลกระทบจากการตั้งครรภ์วัยรุ่นมีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจ โดยผลกระทบทางด้านร่างกาย คือภาวะโลหิตจาง ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ ได้รับการผ่าตัดคลอดเนื่องจากศีรษะทารกไม่สัมพันธ์กับช่องเชิงกราน การคลอดก่อนกำหนด ภาวะตกเลือดหลังคลอด การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผลต่อสุขภาพทารกในครรภ์ คือ ทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัม เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกเสียชีวิตหลังคลอดภายใน 7 วัน ทารกเสียชีวิตหลังคลอดภายใน 42 วัน ทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิด ความไม่พร้อมด้านจิตใจทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ รู้สึกผิด และไม่มีคุณค่าในตนเอง เกิดภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า และป่วยทางจิต ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมารดาวัยรุ่นมีโอกาสสูงที่จะหยุดเรียนกลางคันหรือเรียนไม่จบ เนื่องจากเป็นนักเรียนการตั้งครรภ์เป็นเรื่องน่าอับอาย ทำให้หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียน ส่งผลให้ไม่มีงานทำ อัตราการว่างงานจึงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้เป็นภาระของครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป
จากผลกระทบดังกล่าว จึงเป็นข้อบ่งชี้ที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดของปัญหานี้ คือการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร แต่ปัจจุบันนี้การหักห้ามใจในวัยรุ่นทำได้ยาก ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ ทางโรงเรียนพรการุญบริบาลจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญ และอยากให้ความรู้กับวัยรุ่นเกี่ยวกับการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว จึงยกตัวอย่างการคุมกำเนิดที่วัยรุ่นสามารถทำได้ง่าย ดังนี้