“เนิร์สซิ่งโฮม” ธุรกิจเติบโต รองรับสังคมผู้สูงอายุ

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันตัวเลขผู้สูงอายุมากถึง 14 ล้านคน ทำให้ ในช่วง 3ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุมีการเติบโต และมีให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการให้บริการที่พักหรือเนิร์สซิ่งโฮม มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 1-2 ปีนี้

25/7/2022

นายแพทย์พศวัต เวชพาณิชย์และทีมงานผู้บริหารโรงเรียนพรการุญบริบาลได้ไปดูงานและเยี่ยมชมศูนย์ The Senior

เหตุผลที่เลือกไปดูที่นี่เพราะเป็น high standard อันดับต้นๆของเมืองไทย

มาตรฐานใหม่ “เนิร์สซิ่งโฮม” ตามกฎกระทรวงฯ

นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery Home และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเค.พี.เอ็น.ซีเนียร์ลีฟวิ่ง จำกัด กล่าวว่า นอกจากบทบาทความเป็นเจ้าของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุแล้ว ตนเอง ยังได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทยด้วย เพราะ หลังจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเนิร์สซิ่งโฮม (Nursing Home ) ทำให้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมส่งเสริมบริการสุขภาพ หันมาให้ความสำคัญกับสร้างมาตรฐานสำหรับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยเมื่อ เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ออกประกาศเป็นกฎกระทรวงเกี่ยวกับมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุ ว่ามีข้อกำหนดอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงฯ ด้วยเหตุนี้ จึงได้เกิดการรวมตัวกันของ ผู้ให้บริการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ และจัดตั้งเป็นสมาคมฯ คอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้คำปรึกษาสำหรับสมาชิก และผู้ประกอบการด้านธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ได้ปรับให้ได้ตามมาตรฐานตามประกาศกฎกระทรวง เพื่อสร้างมาตรฐานการยอมรับในกลุ่มผู้มาใช้บริการ ทำให้ปัจจุบันผู้รับบริการส่วนใหญ่ต่างเริ่มมองหาและเลือกใช้กับสถานบริการ ที่ได้รับมาตรฐานตามกฎกระทรวงและได้รับการรับจากสมาคมฯเพิ่มมากขึ้น

“เนิร์สซิ่งโฮม” ธุรกิจสุขภาพแจ้งเกิดช่วงโควิด

สำหรับการเติบโตของธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตก้าวกระโดดจาก 200 กว่าแห่ง เพิ่มเป็นเท่าตัวปัจจุบัน เนิร์สซิ่งโฮมที่ได้มาตรฐาน และขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสมาคมฯ มีมากถึง 450 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังไม่รวมที่เปิดแบบไม่ได้ขึ้นทะเบียน อีกเป็นจำนวนมากซึ่งมากกว่า 1,000-2,000 แห่ง ซึ่งการเติบโตอย่างมากของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ในช่วง 1-2 ปี มาจากผลพ่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุก็เป็นหนึ่งในธุรกิจเพื่อสุขภาพที่กลุ่มนักลงทุนสนใจ เพราะด้วยปัจจัย ทั้งด้านจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นและประกอบกับสังคมไทย โดยเฉพาะในเมืองหลวงเป็นสังคมเดียวมากขึ้น ที่พักอาศัยที่เป็นคอนโดมิเนียม ทำให้ความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุมีข้อจำกัด ลูกๆหลานๆ ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน การทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่ลำพัง ก็ไม่ได้ ทำให้หันไปพึ่งเนิร์สซิ่งโฮมกันมากขึ้น ประกอบกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุดีขึ้น ก็เลยเกิดกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยแบบประคับประคองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้มีเข้ามาใช้บริการของเนิร์สซิ่งโฮมมากขึ้น ในส่วนของราคาค่าบริการของ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ แบ่งออกไปตามมาตรฐานการให้บริการ แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ เนิร์สซิ่งโฮมเปิดรับผู้สูงอายุทั่วไป ไม่ได้ดูแลอะไรมาก ราคาเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ไปจนถึง 18,000 บาทต่อเดือน และถ้าได้มาตรฐานสามารถปรับได้ถูกต้องตามกฎกระทรวง ราคาขยับขึ้นมาเดือนละ 25,000 - 35,000 บาท แต่ถ้า ลูกหลานพอจะมีรายได้มากหน่อยจะให้ผู้สูงอายุไปอยู่ในเนิร์สซิ่งโฮมเต็มรูปแบบ หรือ สเปเชียลเนิร์สซิ่งโฮม อย่างที่หมอทำ ราคาอยู่ที่เดือนละ 50,000 บาท ขึ้นไป

ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เปิดรับตลาดแรงงาน

สำหรับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ ที่เข้ามาใช้บริการ มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป แม้ว่าส่วนใหญ่จะเปิดรับตั้งแต่ 60 ปี แต่ลูกค้าที่ใช้บริการเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งอายุประมาณ 75 ปีขึ้นไป ระยะเวลาในการเข้ามาใช้บริการ มีตั้งแต่ 5-6 เดือนไปจนถึงเป็นปี หลายปี ขึ้นอยู่หลายปัจจัย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจผู้สูงอายุ ส่วนของผลตอบแทนในธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม ไม่ได้สูงมาก เพราะค่าใช้จ่ายไปอยู่ที่ค่าแรงงาน พนักงาน เป็นหลัก การเปิดให้ได้ตามกฎกระทรวงฯ แรงงานที่มาดูแลผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วย ก็ต้องผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรบริบาล จากสถาบันบริบาล ที่เปิดอย่างถูกต้องไม่น้อยกว่า 420 ชั่วโมง ผู้ที่มาเรียนมีวุฒิขั้นต่ำมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป ในส่วนค่าแรงขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถด้วย ถ้าผ่านการทำงานมีประสบการณ์มาก รายได้มากขึ้น เพราะในแต่ละที่มีการอบรมเพิ่มเติม อย่างแรงงานในศูนย์ที่หมอที่ดูแลอยู่ หมอก็จะฝึกทักษะด้านต่างๆ ให้กับแรงงานของเราตลอด เพื่อเค้าจะได้มีทักษะในการดูแลผู้มาใช้บริการของหมอได้ดี กลุ่มนี้ เมื่อย้ายไปทำงานที่อื่น สามารถเรียกค่าแรงเพิ่มขึ้น จากค่าแรงขั้นต่ำที่เคยได้หมื่นบาทต้นๆไปเป็น 20,000 บาทได้ หรือ บางคนมีความสามารถด้านภาษา เนิร์สซิ่งโฮมหลายแห่งเปิดรับผู้สูงอายุจากต่างประเทศ แรงงานกลุ่มนี้ จะได้ค่าแรงมากกว่าพนักงานบริบาลทั่วไป เป็นต้น

ภาพรวม “เนิร์สซิ่งโฮม” ในไทยมูลค่าตลาดกว่าแสนล้านบาท

นายแพทย์เก่งพงศ์ กล่าวถึง ทิศทางธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม ในประเทศไทย ว่า ในมุมของหมอที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ แบบเนิร์สซิ่งโฮม เพียงแค่ 2 ปี หมอประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ หมออาจจะได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพราะตนเองเป็นแพทย์ แต่ผู้ประกอบการอื่นๆ ที่อยู่ในสมาคมฯ ก็ไม่ได้เป็นแพทย์ แต่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน เพียงแต่ควรที่จะมีองค์ความรู้ด้านสุขภาพสำหรับการดูแลผู้สูงอายุอยู่บ้าง หมอเองก็ได้ประสบการณ์ จากการที่หมอได้ดูแลอาม่า ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปี ได้คลุกคลีกับอาม่า มานาน ทำให้เราเข้าใจผู้สูงอายุอย่างลึกซึ้ง ในการดูแลเอาใจใส่ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับครอบครัว นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายของรัฐบาล คือ ต้องการดึงเม็ดเงินจากต่างชาติ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่เดินทางเข้ามาใช้บริการด้านสาธาณสุข การแพทย์ในประเทศไทย และปัจจุบัน เนิร์สซิ่งโฮมในประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานเปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งรองรับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติผู้สูงอายุที่เดินทางหนีอากาศหนาวเย็นเข้ามาดูแลสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งจุดแข็งของประเทศไทย การบริการด้านสาธารณสุข และการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน สถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ สามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่อื่นๆได้ โดยค่าใช้จ่ายไม่แพง บวกกับงานบริการที่เป็นเลิศของคนไทยสร้างชื่อไปทั่วโลก จากสถานการณ์โควิดที่ทีมแพทย์ประเทศไทยพิสูจน์ให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ทีมแพทย์ของไทยสามารถรับมือโควิดได้เป็นอย่างดี จากที่หลายคนคิดว่าสาธารณสุขไทยจะรับมือกับผู้ป่วยโควิดไม่ได้ ผู้ป่วยล้นเตียงแต่วันนี้ เรามีผู้ป่วยโควิดที่นอนโรงพยาบาลน้อยมากแสดงให้ต่างชาติได้เห็นถึงความสำเร็จด้านการแพทย์ของไทย

นายแพทย์เก่งพงศ์ กล่าวถึง การทำธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม ว่า ที่ผ่านมาเราจะเห็นผู้ประกอบการที่ทำแบบเล็กๆ ปรับบ้านตัวเองมาทำ ซึ่งในมุมมองของหมอเห็นว่า ผลตอบแทนก็จะไม่เท่ากับ ผู้ประกอบการที่มีการลงทุน สร้างสถานที่ขึ้นมาใหม่ และเปิดรับไปเลยไม่ต่ำกว่า 30 ถึง 40 เตียง ตรงนี้ น่าจะคุ้มกว่า และได้บริการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งดีทั้งในแง่นักลงทุน และดีทั้งในแง่ของงานบริการที่ดีด้วย ในส่วนของภาพรวมธุรกิจ ถ้าดูจากจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 14 ล้านคน แค่ตลาดในประเทศ ขอผู้ใช้บริการแค่ 1% อยู่ที่ประมาณ 140,000 คน ค่าใช้จ่ายแต่ละคนๆละ 5 หมื่นบาทต่อเดือน ปีหนึ่งประมาณ 600,000 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 80,000 กว่าล้านบาท ถ้ารวมต่างชาติ มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮมในประเทศไทยไม่น่าจะต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

Cr.บทความ/ภาพ : https://mgronline.com,THE SENIZENS by Chersery home