เนื่องจากโรคซึมเศร้า โดยทั่วไปเป็นโรคที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และภาวะจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจจะมีอารมณ์เศร้า ซึม เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ ไม่มีแรงจะทำอะไร เบื่ออาหาร รู้สึกไร้ค่า ไม่มีสมาธิ ถ้ารุนแรงอาจจะมีความอยากคิดฆ่าตัวตาย การแสดงออก ในคนหนุ่มสาวจะเห็นอาการหงุดหงิด โมโห หรือยอมรับว่าตัวเองมีภาวะไม่ดี รู้สึกแย่และต้องการการรักษามากกว่าผู้สูงอายุ
เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ณ ปัจจุบัน สังคมไทยเริ่มมีการเปิดการพูดถึงโรคซึมเศร้ากันอย่างกว้างขวาง มีความยอมรับและความเข้าใจ ทั้งจากตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม มากขึ้น แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ถือว่ายังมีอุปสรรคอย่างมากในการดูแล เพราะนอกจากในระดับวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรคซึมเศร้าจะถูกวินิจฉัยและรักษายากกว่าในผู้ป่วยกลุ่มอื่นแล้ว การที่ผู้สูงอายุเคยเติบโตมาในสังคมที่ยังตีตราและกล่าวโทษผู้ที่แสดงความอ่อนแอทางอารมณ์ หรือที่เรียกว่ามี Stigma ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นซึมเศร้ายากยิ่งขึ้นไปอีก วันนี้หมอจึงอยากจะมาเล่าความรู้ดีๆเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุให้เรามีความรู้มากขึ้นไปพร้อมๆกัน
ในผู้สูงอายุ นอกจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่สังเกตหรือยอมรับในภาวะทางจิตใจที่เปลี่ยงแปลงไปแล้ว ตัวโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุเองก็มีปัจจัยเกิดโรคที่ต่างออกไป จึงอาจมีอาการแสดงออกทางกาย เช่นปวดหลังปวดตามเนื้อตัว หายใจไม่อิ่ม ขี้บ่นหรือหงุดหงิดง่ายขึ้น เหม่อลอยหรือนั่งน้ำตาไหล เหล่านี้บางครั้งยังไม่สัมพันธ์กับโรคประจำตัวหรืออาการทางกายที่พบได้บ่อยอยู่แล้วในผู้สูงอายุ การสังเกตให้ได้ว่าผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้าจึงต้องอาศัยทั้งความใส่ใจ การดูแล การใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัวมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ
ส่วนมากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุไม่ต่างจากในวัยอื่นๆ ได้แก่ เพศหญิง โสด มีโรคเรื้อรัง มีประวัติการติดสุรา ความโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่ง หรือมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่ในผู้สูงอายุมีปัจจัยที่น่าจับตามองและเพิ่มความเสี่ยงอย่างเฉพาะเจาะจงอยู่ 3 ชนิดที่จะมาเล่าให้ฟัง
อ่านกันมาถึงตรงนี้ คงได้เห็นถึงความน่ากลัวและความน่าสนใจในโรคซึมเศร้าของผู้สูงอายุกันแล้ว ในตอนหน้า หมอจะมาเล่าถึงอาการที่ควรสังเกตว่าอากงอาม่าที่บ้านจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ รวมถึงสิ่งที่ควรทำหากมีญาติผู้ใหญ่ที่เรารักเป็นโรคซึมเศร้ากันนะครับ