โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยไม่ได้เป็นบ้าและไม่ได้เป็นคนไม่ดี แต่เป็นคนที่มีอาการป่วยทางอารมณ์อย่างหนึ่งซึ่งต้องการการรักษา เพราะหากปล่อยไว้ ผู้ป่วยอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ เพราะมีสถิติที่ระบุว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า
โรคซึมเศร้าคือโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล จึงต้องได้รับการรักษาโดยเร็วด้วยการปรึกษาจิตแพทย์
โรคซึมเศร้าคือโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อ เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด รู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ฝันร้ายบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการทำงานลดลง
ทั้งนี้ สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้ามาจากหลายปัจจัย ทั้งจากด้านกรรมพันธุ์ พัฒนาการของจิตใจ และสิ่งแวดล้อมที่เผชิญ เช่น ประสบกับความเครียดหนัก ๆ เจอมรสุมชีวิต เจ็บป่วยเรื้อรังจนหมดกำลังใจ พบกับความสูญเสียในชีวิต เช่น การพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก สูญเสียคนรัก ครอบครัว ตกงาน ปัญหาเรื่องการเงิน ต้องย้ายบ้านกะทันหัน ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น และหากเจอกับเหตุการณ์หรือความรู้สึกเหล่านั้นบ่อย ๆ ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัว ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เพราะโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากมีญาติเป็น แล้วเราจะเป็นไปด้วย เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่ามีปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นมากระตุ้นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดี ผู้หญิงมักประสบกับภาวะนี้มากกว่าผู้ชายถึง 70% และมักเริ่มต้นเมื่อราวอายุ 32 ปี
ครอบครัวและญาติพี่น้องถือเป็นคนสำคัญในทีมรักษา การคอยให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้จะช่วยได้มาก เพราะผู้ป่วยมักมองโลกในแง่ร้าย และมักจะลืมประเด็นนี้อยู่เรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังต้องให้กำลังใจให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้สม่ำเสมอ เพราะความที่ยาออกฤทธิ์ช้าทำให้ผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดว่ายานี้ไม่ได้ผล
ในรายที่เป็นมากและมีความคิดจะฆ่าตัวตาย ญาติควรเก็บสิ่งที่จะใช้ในการฆ่าตัวตายได้ เช่น เชือก มีด กรรไกร ยาฆ่าแมลง อาวุธต่าง ๆ ให้มิดชิดและคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ในรายที่มีความมุ่งมั่นที่จะฆ่าตัวตายมาก ๆ ควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด