วันที่ 30 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุเหยียบกันครั้งใหญ่ที่งานเทศกาลวันฮาโลวีน ในเขตอิแทวอน ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อกลางดึกวันเสาร์ที่ 29 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตกว่าร้อยศพ ขณะที่มีผู้บาดเจ็บอีกราว 82 ราย บางส่วนยังมีอาการสาหัส
เหตุฝูงชนเบียดเสียดจนเหยียบกันตาย เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นต่างที่ต่างเวลา แต่ส่วนใหญ่มักจะมีปัจจัยแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน
ในช่วงโควิด-19 ที่มีการจำกัดการรวมตัวของผู้คน ทำให้โอกาสที่จะเกิดโศกนาฏกรรมในลักษณะนี้น้อยลงไปมาก แต่ล่าสุด ก็เกิดเหตุสลดซ้ำรอยอีกครั้ง ในย่านอิแทวอน แหล่งรวมสถานบันเทิงชื่อดังในกรุงโซล ของเกาหลีใต้
ภาษาอังกฤษเรียก Stampede สาเหตุการเสียชีวิต ไม่ได้จากการเหยียบกันด้วยเท้า แต่คือการขาดอากาศหายใจ บริเวณนั้นก็เป็นพื้นที่โล่งมีอากาศไหลผ่าน
สาเหตุเพราะทรวงอกขยายไม่ได้ ภาษาแพทย์เรียกว่า "Compression Asphyxia Compression" คือ การถูกกดทับจากภายนอก Asphyxia (แอส-ฟิก-เซีย) คือ ภาวะขาดอากาศหายใจ
เมื่อฝูงชนเบียดเสียดจำนวนมาก ระยะห่างแต่ละคนน้อยมาก ลำตัวชิดๆ กัน จนหน้าอกขยายไม่ได้ คนเราหายใจเข้า-ทรวงอกขยายแต่นี่ถูกคนข้างๆ กดเบียดเอาไว้ หายใจเข้าไม่ได้ ก็เลยหมดสติ หากขาดอากาศนานเกิน 3-5 นาที หัวใจก็อาจหยุดเต้นได้ ร่างล้มทับถมกันเป็นโดมิโน จึงมีผู้ประสบเหตุจำนวนมาก
หลังจากเคลียร์ฝูงชนให้ออกจากที่แออัดได้แล้ว ทีมกู้ชีพต้องเริ่มด้วย "ทริอาช" ไม่ใช่เราจะสุ่มช่วยใครก็ได้ที่เราเจอเป็นคนแรก แต่ทีมต้องคัดแยกความเร่งด่วนของผู้ประสบภัย ที่นอนเรียงรายบนถนน แบ่งเป็น แดง-เหลือง-เขียว
ผู้ป่วยสีเขียวยังเดินได้ ให้แยกในที่ปลอดภัย ไม่ต้องการปฐมพยาบาลอะไรมาก เพื่อให้ทีมทุ่มศักยภาพไปดูแลคนไข้สีเหลือง และสีแดงให้รอดชีวิตให้ได้ในที่เกิดเหตุ ผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ หัวใจหยุดเต้น จัดเป็นสีแดง ต้องรีบช่วยทันที ต้องรีบปั๊มหัวใจและช่วยหายใจ (CPR) ไม่เช่นนั้นโอกาสรอดเท่ากับศูนย์
พึ่งแต่ทีมกู้ภัยอย่างเดียวไม่พอแน่ๆ หัวใจหยุดเต้นกันห้าสิบคนพร้อมๆ กัน จะต้องใช้ทีมกู้ชีพกี่คน กี่โรงพยาบาลลองนึกดู แล้วถ้าทีมกู้ชีพไม่พอล่ะ ก็จะมีคนไข้ที่ไม่ได้รับการช่วยอะไรเลยอีกมาก ประชาชนพลเมืองดีทั้งนั้น ที่กำลังปั๊มหัวใจช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะฉะนั้นการ CPR จึงเป็นเรื่องสำคัญของประชากรทุกคน ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น