นอกจากนี้ การอดอาหารเช้ายังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน เนื่องจากคนที่รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำ จะลดภาวะผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน หรือภาวะดื้อของอินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 35–50 และผลการวิจัยจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจในอเมริกายังพบว่า การรับประทานอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองและโรคหัวใจอีกด้วย
สำหรับอาหารเช้าที่คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานเป็นประจำ อันดับ 1 คือ ข้าว ร้อยละ 50.45 รองลงมาคือดื่มชา กาแฟ แทนข้าว ร้อยละ 25 ตามมาด้วย ดื่มนมจืดพร่องมันเนย ร้อยละ 13.64 ส่วนคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า สาเหตุหลักเป็นเพราะการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ
พบว่า เด็กอายุ 6-11 ปี ร้อยละ 30 ไม่กินอาหารเช้า และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิง อายุ 12–14 ปี ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 52 ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญกับอาหารเช้าโดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม
นั่นเพราะหากเด็กวัยเรียนไม่รับประทานอาหารเช้าจะส่งผลเสียต่อการเรียนและสุขภาพ เพราะร่างกายจะทำงานเพื่อเผาผลาญตลอดเวลาแม้ในขณะหลับ และเมื่อไม่ได้ทานอาหารเช้าทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหาร จะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ร่างกายอ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลม เพราะสมองได้รับน้ำตาลกลูโคสไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ยิ่งมีอาการในช่วงเวลาเรียน จะทำให้เด็กไม่มีสมาธิเรียน อาจเป็นโรคกระเพาะจนถึงขั้นต้องพักการเรียนได้
เพราะทุกวัยโดยเฉพาะเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่ต้องการพลังงาน สารอาหารที่ครบถ้วน และหลากหลายให้เพียงพอต่อร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ขมหวาน ขนมขบเขี้ยว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนของเด็กไทย พร้อมทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ทำให้สมองสามารถเรียนรู้ จดจำ มีสมาธิ พร้อมเริ่มวันใหม่ ตลอดจนทำกิจกรรมการเรียนรู้กันเพื่อนได้อย่างดี ควบคู่กับสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย