เมื่อเวลามีค่าไม่ต่างจากเงินทอง หากลอง Search “พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล” เราจะเห็นบริการในลักษณะ Day-Care (บริการดูแลรายวัน) อำนวยความสะดวกเช่นนี้มากมาย
"ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ" ธุรกิจในยุคใหม่ ซึ่งผู้คนเร่งรีบ แต่ทว่าต้องการความพิถีพิถันในการดูแล ซึ่งเป็นโจทย์สำหรับผู้ให้บริการ"
ทั้งจากการขยายธุรกิจเดิมรับดูแลผู้สูงอายุที่บ้านสู่บริการรับส่งพาไปโรงพยาบาล บริการจากผู้เล่นรายใหม่ที่เปิดขึ้นมาด้วยใจรัก กระทั่งบริการรถรับจ้างซึ่งขอโฟกัสอีกกลุ่มลูกค้าที่จะเป็นแนวโน้มใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุในไทย ปี 2564 ว่า อยู่ที่ 8,000 – 9,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตได้เฉลี่ย 7.8% ต่อปี ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ตัวเลขนี้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย โดยสัดส่วนมูลค่าตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นเม็ดเงินในภาคธุรกิจ (B2B) เป็นหลัก โดยเฉพาะความต้องการใช้งานในธุรกิจ Non-hospital อาทิ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เนิร์สซิ่งโฮม และที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ ธุรกิจประเภท Non-hospital ยังหมายถึง ธุรกิจพาผู้สูงอายุไปสถานพยาบาล ทั้งในแบบที่เป็นทางการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทหรือการไหว้วานให้ค่าจ้างกับคนรู้จักส่วนตัว ซึ่งยังไร้การสำรวจ
สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2563 โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ ยืนยันว่าไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายในปีหน้า (พ.ศ.2565) และ “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” ที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2506-2526 กำลังจะกลายเป็นผู้คนกลุ่มใหญ่
การไปโรงพยาบาลไม่ใช่แค่การจอดรถ พบแพทย์ แล้วรับกลับ เท่านั้น แต่ ‘ความไม่สะดวก’ คือการต้องรอคิว แล้ววนไปแต่ละแผนก เช่น ไปวัดความดัน ไปเอ็กซ์เรย์ มารอหน้าห้อง ไปจ่ายเงิน ไปรับยา ฯลฯ ซึ่งสำหรับผู้สูงอายุบางรายจะไม่เข้าใจ ดังนั้นการมาโรงพยาบาลทุกครั้งจำเป็นต้องมีคนมาเป็นเพื่อน และการบริการดุจญาติมิตร
ขณะเดียวกันในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรรวมของประเทศไทยจะเพิ่มช้ามาก อัตราเพิ่มจะลดต่ำลงจนถึงขั้นติดลบ แต่ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้สูงอายุ (60ปีขึ้นไป) จะเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ผู้สูงอายุวันปลาย (80 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี อย่างไรก็ดีอัตราที่มากขึ้นของผู้สูงอายุนี้ ยังพบผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ทั้งในปัจจุบันที่มีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมราว 651,950 คน ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะติดเตียงประมาณ 43,520 คน รวมถึงผู้สูงอายุที่มีสุขภาพในภาพรวมดี แต่ต้องไปพบแพทย์เป็นประจำตามนัด ซึ่งน่าจะเป็นผู้สูงอายุกลุ่มใหญ่ของประเทศ และต้องการใช้บริการ อย่าลืมว่าความต้องการของผู้สูงอายุ ไม่ได้หมายความเพียงการพบแพทย์ตามนัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนัดฉีดวัคซีน การพบปะรวมตัวของกลุ่มผู้สูงอายุที่ชอบทำกิจกรรม ไม่อยากอยู่บ้าน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการเพื่อนที่เป็นหูเป็นตา อำนวยไลฟ์สไตล์แต่ละวันให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่ายแบบเดียวกับที่กลุ่มสินค้าต่างๆ วางผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายสินค้าหลักด้วยเหตุผลทางด้านความพร้อมทางการเงิน
“คงต้องแยกระหว่างการรับส่งกับไปเป็นเพื่อน ไปดูแลเลยเหมือนที่ลูกหลานที่พาพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ไป ซึ่งต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้สูงอายุแต่ละคน ว่านิสัยท่านเป็นแบบไหน อย่างไร บางครั้งรับงานที่ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ในตอนที่เขาเข้าห้องน้ำ ก็ต้องเข้าไปช่วยเขาด้วย คิดว่านี่คือญาติของเราจริงๆ” ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า การหาหมอแต่ละครั้ง ผู้พาไป ต้องช่วยจำประเภทยา เวลารับประทาน และการปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปบ้านซึ่งแพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วยได้ และตรงนี้นี่เองที่จะเป็นความไว้ใจที่ผู้จ้างต้องการจากผู้ให้บริการจริงๆ
นอกจากระบบความปลอดภัย ความสามารถในการ Tracking ผู้ให้บริการได้ตลอดเวลา ผู้ให้บริการสำหรับผู้สูงอายุจึงต้องเน้นเรื่อง ความเอาใจใส่ (Empathy) มีใจที่พร้อมจะให้บริการ (Service Mind) จริงๆ ไม่ต่างอะไรจากการหาพี่เลี้ยง ซึ่งผู้ดูแล-ผู้ถูกดูแล ต้องเข้าใจและมีเคมีที่ไปด้วยกันได้
ฟังเป็นเรื่องง่ายๆ และไม่ซับซ้อน แต่ธุรกิจการพาผู้สูงวัยไปโรงพยาบาล กลับต้องการความใส่ใจแบบพิถีพิถัน และเป็นโจทย์ให้ผู้ให้บริการหาทางเติมเต็ม ไม่ต่างอะไรจากการทำหน้าที่ของลูกหลานแท้ๆ ซึ่งด้วยการงานและความเร่งรีบพรากความเอาใจใส่ไปชั่วครู่